Welcome to Kruying2513 blog ยินดีต้อนรับสู่บลอก kruying2513 สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อและแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้เรียน

วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

        UploadImage

“สมาธิ” ความจำเป็นต่อการทำกิจกรรม เพราะการที่เราจะทำกิจกรรมอะไรให้ดีนั้น เราทุกคนต้องมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ ตั้งใจทำ เพื่อให้ผลที่ออกมาได้ดังที่เราตั้งไว้
วันนี้พี่จึงมีสาระดีๆเกี่ยวกับการเรียน ที่เชื่อมโยงเรื่องของสมาธิมาแบ่งปันให้น้องๆค่ะ ไปติดตามกันเลยค่ะ

สาเหตุของการไม่มีสมาธิ
๑. ขาดความสนใจในสิ่งที่ทำ
๒. สนใจในสิ่งที่ทำมากจนเกินไป
๓. สนใจหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน
๔. ความเป็นคนหัวดี ปัญญาดี ทำให้คิดไปที่อื่นเร็ว
๕. จิตครอบงำด้วยนิวรณ์

การสร้างนิสัยให้มีสมาธิในชีวิตประจำวัน
๑. สร้างนิสัย ลงมือทำทันที
๒. สร้างนิสัย เรียนล่วงหน้า มิใช่แค่ เรียนตาม
๓. สร้างนิสัยมุ่งมั่นว่า ?ถ้าทำไม่เสร็จจะไม่ใส่ใจอะไรอื่น
๔. จัดลำดับของเรื่องที่จะทำก่อนลงมือ
๕. หัดคิดทีละเรื่อง โดยให้เจาะลึกในเรื่องนั้นๆ อย่าผิวเผิน
๖. สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การมีสมาธิ
๗. รู้จักพักเป็นช่วงๆ
๘. สร้างความเต็มใจและจริงใจที่จะทำสิ่งนั้นๆ
๙. พยายามหัดคิดในเรื่องสร้างสรรค์
๑๐. เลิกนิสัยมากเรื่องในการจะทำอะไรสักอย่าง

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน ได้แนะนำวิธีการทำสมาธิในห้องเรียนว่า
๑. หาที่นั่งที่สามารถมองเห็นครูและกระดานได้ชัดเจน
๒. เมื่อครูเดินเข้ามา ส่งจิตไปรวมที่ครูผู้สอน
๓. จับใจความให้ได้ตามที่ครูต้องการ
๔. เวลาว่างแทนที่จะนั่งคิดสิ่งอื่น ก็นำบทเรียนมาคิด
๕. ให้สติรู้ตัวทุกอิริยาบถ ในการทำ พูด คิด
ขอบคุณสยามเซาท์
เห็นกันรึยังคะว่าการมีสมาธิในการเรียน ส่งผลดีมากแค่ไหน ดังนั้นเรามาเริ่มกันวันนี้เลยนะคะ มาตั้งสติ และทำสมาธิไปพร้อมๆกัน ทุกอย่างไม่ยากอย่างที่คิดหรอกค่ะ ในครั้งต่อไป พี่จะมีสาระดีๆอะไรมาฝาก ก็ขอให้น้องๆติดตามด้วยนะคะ

วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555


. .ความหมายสิ่งสำคัญที่ใช้ไหว้ครู. . .

        ในพิธีไหว้ครูนั้น นอกจากธูป เทียน แล้ว เครื่องสักการะที่ใช้ ยังมีข้าวตอก ดอกมะเขือ ดอกเข็ม และ หญ้าแพรก อีกด้วย โดยสิ่งเหล่านี้เป็นของหาง่าย และล้วนแฝงความหมาย แง่คิดสอนใจ

ข้าวตอก ได้มาจาก การนำข้าวเปลือกไปแช่น้ำให้นิ่ม แล้วจึงนำไปคั่วด้วยความร้อน จนเมล็ดข้าวแตก และ บานออกมีสีขาวบริสุทธิ์ มีความหมายว่า ครูย่อมสอนศิษย์ ทั้งด้วยวิธีปลอบโยน เปรียบได้กับน้ำที่ทำให้ข้าวเปลือกนิ่ม และ วิธีการเคี่ยวเข็ญที่เข้มงวด มีการลงโทษเมื่อศิษย์ ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม เหมือนการนำเมล็ดข้าวไปคั่วด้วยความร้อน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ ศิษย์เป็นคนดี มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต เปรียบได้กับ สีขาวของข้าวตอก และ การแตกบาน ของข้าวตอก

ดอกมะเขือ เป็นดอกไม้ที่บานแล้วคว่ำดอกลงสู่พื้นดิน เหมือนน้อมรำลึกถึงพระคุณของดิน แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นเครื่องเตือนใจให้ศิษย์ ระลึกได้อยู่เสมอว่า ศิษย์จักต้องระลึกถึงพระคุณครู และน้อมรับคำสั่งสอนของครู

ดอกเข็ม ด้วยลักษณะของดอกเข็ม ที่มีปลายแหลม เปรียบเหมือน ความฉลาดหลักแหลม การนำดอกเข็มมาไหว้ครู เชื่อว่าศิษย์จะมีสติปัญญาเฉียบแหลมและฉลาดรอบรู้ เปรียบเสมือนเหล็กแหลมที่ได้รับการฝน มาอย่างดี โดยคุณครูผู้มีความพยายาม และอดทนนั่นเอง

หญ้าแพรก เนื่องจากหญ้าแพรก เป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้ง และ ที่สำคัญสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วในทุกพื้นที่ แม้ถูกเหยียบย่ำก็ไม่ตาย เมื่อได้รับน้ำฝน ก็จะแตกใบขยายพันธุ์ขึ้นอีก มีความหมายว่า ศิษย์จะต้องมีความอดทน ต่อการเคี่ยวเข็ญ ดุว่า เฆี่ยนตี ของครู โดยไม่ถือโกรธ ดุจดังหญ้าแพรก และหากศิษย์กระทำตัวเช่นหญ้าแพรกได้ เมื่อเติบโตขึ้น ย่อมสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ในทุกสภาพสังคม ได้พบกับความเจริญในชีวิต

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555


 ประวัติวันไหว้ครู
วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา
ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง” จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน เป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกันประชาชน
การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ

การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลาในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

1. กิจกรรมทางศาสนา

2. พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณ บูรพาจารย์

3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือ การจัดงาน รื่นเริงในตอนเย็น


ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่งประเทศ สำหรับในส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็ได้