เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีและมีความสุข
ลูกเป็นสิ่งมีค่าที่สุดของพ่อแม่ พ่อแม่จึงสมควรทำความเข้าใจเรื่องการเลี้ยงลูก ให้เป็นคนดีและมีความสุข ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขแห่งอนาคตของลูก และความปลาบปลื้มภูมิใจของพ่อแม่ อีกทั้งการเลี้ยงลูกให้ดีถือเป็นหน้าที่สำคัญของพ่อแม่ ถ้าเลี้ยงไม่ดีโตขึ้นเป็นคนไม่ดีหรือเป็นคนที่ไม่มีความสุขหรือทั้งสองอย่าง ความทุกข์ใจก็จะเกิดกับตนเอง ลูก ครอบครัวและสังคม
ก่อนอื่นเราลองดูตัวอย่างการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีแต่ไม่มีความสุข
นิดพยายามเป็นคนดีของทุกคนเสมอ นิดยอมตามใจพ่อแม่ทุกอย่าง นิดเป็นเด็กเรียนเก่ง พ่อแม่จึงอยากให้เรียนแพทย์แต่นิดสอบเข้าไม่ได้พ่อแม่อยากให้สอบใหม่ เพราะคาดหวังสูง แต่นิดก็รู้ตัวดีว่าคงสอบไม่ได้ นิดพอใจที่จะเรียนต่อในคณะเดิมแต่ไม่กล้าบอกพ่อแม่ นิดเครียดมากจนปวดศีรษะและไม่มีความสุข ไม่อยากให้พ่อแม่ผิดหวังในตัวเธอ ลักษณะที่ดีกับพ่อแม่จนเป็นทุกข์ต่อตนเอง หรือเป็นคนดีเกินไป นั่นคือลักษณะที่ไม่ดีจริง เก็บกดและไม่มีความสุข สนใจความรู้สึกและความคาดหวังของพ่อแม่มากจนเกินไป หลังจากที่เธอได้ปรึกษากับจิตแพทย์เธอสามารถเปิดเผยความต้องการที่แท้จริงกับพ่อแม่ และสามารถอธิบายให้พ่อแม่ยอมรับขีดความสามารถของเธอ อาการปวดศีรษะก็หายไปได้
นุชเป็นลูกคนเดียวในครอบครัวที่มีฐานะดีมาก นุชได้รับการเลี้ยงดูแบบคุณหนูหรือไข่ในหิน พ่อแม่และพี่เลี้ยงจะปรนนิบัตินุชเป็นอย่างมากจนทำให้นุชไม่ค่อยได้ทำอะไรเองตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นอาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัวหรือแม้แต่การรับประทานอาหาร เมื่อโตขึ้นนุชก็แต่งงานกับคนที่พ่อแม่หาให้ นุชพบว่าตนเองเป็นคนไม่มีความสุข จะเครียดแลกังวลมากเวลาต้องตัดสินใจหรือเผชิญปัญหา นุชจะคอยพึ่งคนอื่นให้ตัดสินใจแทนอยู่เสมอ เมื่อเธอได้รับการรักษาแบบจิตบำบัด นุชเริ่มเข้าใจตนเอง ตั้งแต่เด็กนุชจะถูกห้ามไม่ให้ทำอะไรเอง เพราะพ่อแม่จะกลัวทำได้ไม่ดี นุชจึงเคยชินที่จะอยู่ในกรอบที่พ่อแม่ตีเส้นไว้ให้ เพื่อจะได้ไม่ผิดพลาดหรือมีปัญหา ปัจจุบันนุชเข้าใจและยอมรับแล้วว่า การตัดสินใจเองหรือเผชิญปัญหาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ถูกปลูกฝังเอาไว้ เป็นเรื่องปกติของชีวิตมนุษย์ที่ต้องประสบปัญหาและต้องตัดสินใจ แม้ผิดพลาดไปก็สามารถรับสภาพได้โดยไม่เครียดจนเกินไป ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากมายที่เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง เป็นบทเรียนสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จ
นิดและนุชเป็นตัวอย่างของคนดีที่ไม่มีความสุข ต่างก็ไม่พอใจและไม่มีความสุข จากสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่อันเนื่องมาจากการอบรมเลี้ยงดู จิตบำบัดเป็นจุดเริ่มต้น ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่พอใจและมีความสุขกว่าเดิม แม้ว่าลูกจะเป็นคนดี ไม่เป็นที่เดือดร้อนต่อสังคม แต่พ่อแม่ก็คงไม่อยากเห็นลูกไม่มีความสุขอย่างนิดและนุช หรือคนอื่นๆ อีกมากมาย
ที่นี้มาดูตัวอย่างของการเลี้ยงลูกให้มีความสุขแต่ไม่ได้เป็นคนดี กลุ่มนี้จะสร้างปัญหาให้คนรอบข้างและสังคม
สิทธิ์เป็นคนเก่งที่มีความสุขแต่เป็นคนที่เห็นแก่ตัวมากและไม่เคยคิดถึงความรู้สึกของคนอื่น เขาชอบทำสิ่งผิดๆ เพียงเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่หวังไว้โดยเฉพาะความร่ำรวยและอำนาจ แม้ว่าสิทธิ์จะประสบความสำเร็จเสมอๆ แต่ก็สร้างปัญหาให้เพื่อนร่วมงานองค์กรและสังคมอยู่เนืองนิตย์ สิทธิ์เป็นลูกคนเดียวของครอบครัวฐานะดี พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ต่างให้ความรักมากมายจนสิทธิ์เคยตัว ทุกคนจะยอมเพราะเห็นว่าเป็นเด็ก สิทธิ์เป็นแต่ฝ่ายรับโดยให้ใครไม่เป็น ไม่ยอมใครและไม่เอาใจใคร สิทธิ์ไม่มีพี่น้องที่จะแข่งกันทำความดีเพื่อให้พ่อแม่สนใจชมเชยและไม่ได้สังคมพี่น้อง ที่แบ่งปันซึ่งกันและกัน พ่อแม่ที่มีลูกคนเดียวคงต้องสำรวจว่าลูกเป็นแบบสิทธิ์หรือไม่ แม้ไม่ใช่ลูกคนเดียวแต่ถ้าเด็กเป็นผู้ใหญ่ในบ้าน หรือเป็นลูกบังเกิดเกล้าแล้ว ก็จำเป็นต้องรีบแก้ไขการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมของเด็กตั้งแต่ยังเล็ก ถ้าปล่อยปละละเลยหรือให้ท้ายเด็กเวลาทำผิดโตขึ้นจะแก้ไขยาก สร้างความเดือดร้อนแก่ครอบครัวและสังคม
จากตัวอย่างทั้งหมดแสดงให้เห็นผลจากการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมของเด็กที่ไม่ดี ทำให้เกิดลักษณะของกระแสความคิดที่คุ้นเคยจนเป็นนิสัยและบุคลิกภาพ
สำหรับหลักในการเลี้ยงดูเด็ก ได้แก่
1. เลี้ยงดูด้วยความรัก จากการศึกษาติดตามเด็กอนาถาในสถานสงเคราะห์นิวยอร์คพบว่า เด็กจะสูญเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 37 ทั้งๆ ที่เด็กได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี แต่เด็กจะร้องไห้มาก หงุดหงิดง่าย ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย ติดเชื้อง่ายและตายในที่สุด โดยแพทย์ลงความเห็นว่าเด็กเป็นโรคขาดรักหรือโรคขาดแม่ แม้ว่าความรักของแม่จะยิ่งใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จเพียงข้อเดียวที่ทำให้เด็กเติบโตป็นคนดีและมีความสุข
2. ให้ข้อจำกัดกับเด็กในเรื่องต่างๆ ที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก ไม่ควรห้ามไปทุกเรื่องจนเด็กขาดความมั่นใจ และไม่ควรตามใจไปทุกเรื่อง จนเด็กเอาแต่ใจตนเองควรห้ามกรณีที่เห็นว่าจะเป็นอันตรายต่อเด็ก ผู้อื่นและการทำลายสิ่งของ เช่น ถ้าเป็นเด็กเล็กไม่ควรให้เล่นมีด ไม่เตะบอลในบ้าน ไม่ขีดเขียนที่ฝาผนังบ้าน ไม่ฉีกหนังสือ เป็นต้น ข้อห้ามที่ใช้ควรมีเหตุผลและมีการปฏิบัติเสมอตนเสมอปลาย ถ้าพ่อแม่ใจอ่อนจะฝึกเด็กไม่ได้เลย ไม่ควรกลัวปฏิกิริยาของเด็กเวลาถูกขัดใจ แม้ว่าเด็กจะร้องไห้บ้าง ดิ้นหรือโวยวายก็ตามเพราะเด็กจะเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดีขึ้น และอดทนต่อความผิดหวังได้ดีขึ้น
3. ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีตามวัย ได้แก่ พัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สติปัญญา สังคม จริยธรรม โดยมีผลรวมของพัฒนาการด้านต่างๆ กลายเป็นพัฒนาการของบุคลิกภาพของเด็ก
เทคนิคการอบรมสั่งสอนเด็ก
1. การอธิบายเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเป็นเด็กเล็กยิ่งต้องอธิบายสั้นๆ ไม่ควรพูดยืดยาว เช่น หนูปีนรั้วไม่ได้เดี๋ยวจะตกลงมา หนูไม่ใส่รองเท้าในบ้านเพราะพื้นบ้านจะสกปรก
2. การเบนความสนใจไปจากสิ่งที่ห้ามโดยใช้สิ่งที่น่าสนใจกว่า เวลาห้ามเด็กไม่ให้ทำสิ่งใดก็ควรสอนว่าให้ทำสิ่งใดแทน เช่น ห้ามไม่ให้เด็กขีดเขียนฝาผนังก็หากระดาษมาให้เขียนแทน
3. การใช้ท่าทีที่มั่นคง หนักแน่นและจริงจัง อาจต้องจูงเด็กไปทำสิ่งที่ต้องทำ
4. การให้อิสระเด็กในการแสดงความคิดเห็นและความรู้สึก ควรให้เด็กรู้สึกว่ามีอะไรในใจก็พูดคุยกันได้กับพ่อแม่
5. การให้รางวัลเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี หรือเมื่อเด็กหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดี อาจเป็นคำพูดชมเชย โอบกอดหรือลูบหัว
6. การเลิกให้ความสนใจต่อพฤติกรรมที่ไม่ดี ควรให้ความสนใจ หรือให้รางวัลเวลาเด็กมีพฤติกรรมที่ดี เช่น ไม่ให้ความสนใจเด็กที่ร้องกวนแม่ เวลาแม่กำลังทำอาหาร และชมเชยเมื่อเด็กสามารถอยู่ตามลำพังบ้าง ไม่ให้ความสนใจเด็กที่ไม่ยอมรับประทานอาหาร มัวแต่เขี่ยอาหารเล่น แต่ชมเชยเด็กที่ยอมรับประทานอาหารแต่โดยดี เทคนิคนี้ต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสม ถ้าพฤติกรรมที่เราไม่ให้ความสนใจเป็นสิ่งที่เป็นเสมือนรางวัลแก่เด็กในตัวแล้วเทคนิคนี้จะไม่ได้ผล เช่น ไม่สนใจเด็กอ้วนเวลากินขนม ไม่สนใจเด็กเวลาดูโททัศน์ไม่เลิก
7. การเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็ก เด็กมักเอาอย่างการกระทำของผู้ใหญ่ มากกว่าการสั่งสอนด้วยคำพูด
8. การลงโทษ ควรใช้เป็นวิธีสุดท้าย ให้เพียงเพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อระบายความโกรธของพ่อ แม่ วิธีการได้แก่ การดุว่า การให้เด็กแยกออกไปอยู่ที่อื่นตามลำพัง แต่ไม่ใช่การขังเด็ก การปรับโทษเช่น หักค่าขนม ส่วนการตีเด็ก อาจหยุดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการได้ แต่ถ้าใช้บ่อยจะทำให้เด็กเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่รักและมีผลเสียต่อความสัมพันธ์ของเด็กกับพ่อแม่ เด็กยังเรียนรู้ตัวอย่างจากพ่อแม่เวลามีปัญหาต้องใช้กำลังและความรุนแรง นอกจากนี้เด็กอาจรู้สึกเก็บกดจากพ่อแม่ตีแล้วไปก้าวร้าวชกต่อยที่โรงเรียน
การเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ที่พ่อแม่ต้องไม่ปล่อยปละละเลย แม้ว่าเด็กบางคนเลี้ยงง่าย บางคนเลี้ยงยาก แต่คนที่เป็นพ่อแม่ก็ต้องปรับการเลี้ยงดูให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นคนดีและมีความสุข คุณภาพของคนลักษณะเช่นนี้ จะทำให้สังคมเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดี
นพ.วีรวุฒิ เอกกมลกุล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น